เกาะที่เคยถูกทิ้งร้างแห่งนี้ของยิมทินไฉ่ เปี่ยมด้วยวัฒนธรรมของชาวคาทอลิกและชาวจีนแคะ ที่มีประวัติความเป็นมาเกือบ 300 ปี โดยในปี 2019 คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวได้ดึงความสนใจของชุมชนศิลปะมายังเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ผ่านการจัดเทศกาลศิลปะ Yim Tin Tsai Arts Festival ซึ่งศิลปินและชาวบ้านร่วมมือร่วมแรงกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อช่วยฟื้นฟูหมู่บ้าน ทุกวันนี้ มีการนำผลงานศิลปะที่เก็บรักษาไว้ 10 ชิ้นมาจัดแสดงในช่วงเทศกาลพร้อมให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม
ยิมทินไฉ่รวมใจนักท่องเที่ยวและชาวบ้านได้อีกครั้งผ่านงานศิลปะ ศิลปิน 6 คนได้สร้างผลงานศิลปะที่สอดคล้องกับธีม "Sequencing" ซึ่งเกี่ยวกับความสุขของการกลับมาพบกันและสายสัมพันธ์ระหว่างคนเรากับธรรมชาติ ลองมาสำรวจพื้นที่ชุ่มน้ำ ทางเดิน และสะพานของเกาะ แล้วจะได้พบกับชุดผลงานที่สร้างสรรค์โดย Margaret Chu ไม่จำกัดสาขาวิชา, Dylan Kwok นักออกแบบพื้นที่สาธารณะ, Monti Lai ศิลปินด้านสิ่งแวดล้อม, Anthony Ko สถาปนิก, Sherman Sun และ Sarah Mui นักออกแบบ รวมถึง Joseph Chan ศิลปินจลนศิลป์ ตามรอยผลงานศิลปะเพื่อสัมผัสระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์บนยิมทินไฉ่ ตลอดจนประวัติการทำเกลือและมรดกทางวัฒนธรรมของเกาะ
สำหรับชาวบ้านในยิมทินไฉ่ โบสถ์นิกายคาทอลิกเซนต์โยเซฟ ที่ตั้งอยู่บนเนินนั้น เป็นดั่งประภาคารใน Sai Kung Hoi ที่ส่องแสงนำทางให้ชาวเรือเห็นทางกลับบ้าน ผลงานสถาปัตยกรรม Homeward Voyage ที่ประกอบด้วยนกพิราบคอนกรีตกับนกพิราบเงาทึบติดกันเหมือนใบเรือ โดย Margaret Chu จึงแสดงถึงเครื่องนำทางและการคุ้มครองของจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในการเดินทางกลับบ้านของเรือทุกลำ
ยิมทินไฉ่ นาเกลือแห่งเดียวของฮ่องกง เป็นเครื่องหมายของประเพณีตกทอดและความอุตสาหะในการทำเกลือจากรุ่นสู่รุ่น กระบวนการผลิตเกลือไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เพื่อแสดงความเคารพต่อความอุตสาหะของชาวบ้าน ศิลปิน Sherman Sun และ Sarah Mui ได้สร้าง The Salty Breeze เพื่อเป็นเกียรติแก่บรรพบุรุษของชาวบ้าน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ร่วมสนทนาปราศรัยอย่างเป็นกันเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่านาเกลือทำหน้าที่เป็นสถานที่ชุมนุมประจำวันของชาวบ้านได้อย่างไร
"การเป็นผู้หญิงในยิมทินไฉ่ช่างยากเย็น..." คำกล่าวจากหญิงชาวจีนแคะคนหนึ่งในหมู่บ้านที่สื่อถึงความเปราะบางและชีวิตที่ถูกดูแคลนในสังคมชาวจีนแคะ ศิลปิน Monti Lai ได้นำเรื่องจริงที่เธอได้ยินมาหลายปีมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน เพื่อตีแผ่ความจริงอันขมขื่นของหญิงชาวจีนแคะผ่านการเก็บรวบรวมวิดีโอและข้อความไว้ใน Taste of Memory ด้วย
[Remarks: This artwork has been removed from the site. You may still see the artwork on this virtual tour. ]
สะพาน Jade Girdle ตั้งอยู่สุดเส้นทางในยิมทินไฉ่ ซึ่งเชื่อมไปยังเกาไซเชา บนสะพานคือสถาปัตยกรรม Fragile World ที่มีรูปทรงกลมภายในกลวงและเรียงรายไปด้วยวงแหวนกระจก ซึ่งสร้างโดยศิลปิน Anthony Ko หากเดินเข้าไปในสถาปัตยกรรมดังกล่าวเพื่อชมภาพสะท้อน จะเห็นว่าภาพดังกล่าวสื่อถึงผู้อยู่อาศัยบนเกาะในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงความทุกข์ยากที่คนเหล่านั้นต้องเผชิญ และการเสียสละเพื่อบุคคลอันเป็นที่รักของชาวจีนแคะ
เมื่อเดินผ่านหมู่บ้านและปีนขึ้นไปบนเนินเขา คุณจะพบฝ่ามือขนาดใหญ่คู่หนึ่งแบอยู่ต่อหน้าคุณบนผืนหญ้า (เดิมคือสนามฟุตบอล) ใกล้สุสาน ฝ่ามือคล้ายเขาวงกตที่ชวนให้รำลึกถึง "พระหัตถ์ของพระเจ้า" นี้ สร้างขึ้นโดยศิลปิน Dylan Kwok เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวตกตะกอนความคิดก้นบึ้งจิตใจของตนและพิจารณาถึงความสุขที่เรียบง่ายในชีวิต
กังหันน้ำรูปกระดูกสันหลังมังกรดั้งเดิมใช้เพื่อสูบน้ำเกลือใกล้ระดับน้ำทะเลไปยังบ่อเกลือแห้งบนพื้นผิว แต่ปัจจุบันกลายเป็นของล้าสมัยเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ศิลปิน Joseph Chan จึงใช้เครื่องจักรโบราณนี้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน Water Dragon เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาเก่าแก่ให้คนรุ่นใหม่
ตำแหน่งที่ตั้ง: ยิมทินไฉ่และเกาะชาร์ป ไซกุง เขตดินแดนใหม่
เว็บไซต์: https://skhartsfestival.hk/en/
การเดินทาง
จากใจกลางเมืองไซกุง ซึ่งไปถึงได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อตั๋วเรือข้ามฟากไคโตะไปยังยิมทินไฉ่และเกาะชาร์ปได้ที่ท่าเรือสาธารณะไซกุง
1. ยิมทินไฉ่
ตั๋วของท่าเรือไคโตะ ไปยังยิมทินไฉ่สามารถซื้อได้ที่เคาน์เตอร์ใกล้ร้านอาหาร Hung Kee Seafood โดยใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือไปยังยิมทินไฉ่ประมาณ 20 นาที
2. เกาะชาร์ป
ตั๋วสำหรับเรือข้ามฟากไคโตะสามารถซื้อได้ที่ผู้ให้บริการท่าเรือไคโตะใกล้ท่าเรือไวกุงสาธารณะใหม่ โดยใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือไปยังเกาะชาร์ปประมาณ 20 นาที